แอ่วเมืองเหนือ

 


วัดพระธาตุดอยสุเทพ

วัดพระธาตุดอยสุเทพหรือ วัดดอยสุเทพ หรือ วัดดอย เป็นวัดที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่บนดอยสุเทพ ตั้งอยู่ที่ ๑๒๔ บ้านดอยสุเทพ หมู่ ๙ ตำบลสุเทพอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย เหตุที่ได้ชื่อว่า วัดพระธาตุดอยสุเทพ สันนิษฐานว่ามีฤาษีตนหนึ่งชื่อวาสุเทพหรือสุเทวะฤษี มาบำเพ็ญตะบะอยู่บนเขาลูกนี้ ผู้คนทั้งหลายจึงเรียกชื่อภูเขานี้ตามชื่อของฤาษี อาคารเสนาสนะ โบราณวัตถุและปูชนียวัตถุของวัดประกอบด้วย อุโบสถทรงล้านนา ภายในมีจิตรกรรมฝาพนังภาพประวัติพระธาตุดอยสุเทพ พระวิหาร ๒ หลัง ด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพฤหัสถ์ ศาลาการเปรียญมีกุฎิ 30 หลัง ศาลาที่พักประชาชน หอฉัน สำนักชี ห้องสมุด หอพิพิธภัณฑ์ พระประธานในอุโบสถ พระพุทธรูปแบบพระสิงห์หนึ่งขัดสมาธิเพชร อนุสาวรีย์ช้างมงคล (ช้างพระที่นั่งของพระเจ้ากือนาที่บรรทุกโกศพระบรมธาตุเสี่ยงทายขึ้นมาบนดอยสุเทพ) อนุสาวรีย์พระสุเทวฤษี บันไดนาคซึ่งตัวนาคยาวถึง ๖๐ วา ตลอดจนปูชนียวัตถุที่สำคัญมากของวัดพระธาตุดอยสุเทพได้แก่ พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เรียบเรียงจาก ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๓๓, จังหวัดเชียงใหม่ ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๒๙, วัดสำคัญของนครเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕

 

 


วัดศรีโคมคำ

วัดศรีโคมคำหรือเดิมชื่อ "วัดพระเจ้าตนหลวง" ตั้งอยู่ที่ ๖๙๒ ถนน พหลโยธิน หมู่ที่ ๑ ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ด้านทิศใต้และทิศตะวันตกติดกับกว๊านพะเยา วัดศรีโคมคำมีประวัติการก่อสร้างที่ยาวนาน คือเริ่มสร้างองค์พระประธาน ได้แก่พระเจ้าตนหลวงเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๓๔ สำเร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๐๖๗ ระยะเวลาที่ใช้ในการก่อสร้างประมาณ ๓๓ ปี จากนั้นมีการซ่อมแซมในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๐๐- ๒๔๐๓ สิ่งสำคัญของวัดศรีโคมคำคือ พระพุทธรูปพระเจ้าตนหลวง วิหารครอบพระพุทธรูปและรอยพระพุทธบาท
เรียบเรียงจาก ประวัติวัดศรีโคมคำ พระเจ้าตนหลวงและพระพุทธบาท พ.ศ. ๒๕๓๓

 

 


วัดพระพุทธบาทตากผ้า

วัดพระพุทธบาทตากผ้าเป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของจังหวัดลำพูน ตั้งอยู่ที่ ๒๗๙ บ้านพระบาท ถนนสายลำพูน - ลี้ หมู่ ๖ ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน โดยอยู่บนเนินเขาระหว่างดอนม่อนช้างกับดอยเครือ ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ปูชนียะวัตถุและโบราณวัตถุของวัดประกอบด้วย อุโบสถวิหาร กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ศาลาบำเพ็ญกุศลและหอสรงน้ำ สิ่งที่สำคัญ คือ รอยพระพุทธบาทซึ่งปรากฏ อยู่ในวิหารที่สร้างครอบรอยพระบาท มีลักษณะ เป็นรูปรอยพระบาทบนแผ่นหินใหญ่ภายในวิหาร มี ๒ รอย รอยใหญ่และรอยเล็ก มีการสร้างพระเจดีย์ซึ่งเป็นศิลปะผสมผสานระหว่างพระธาตุดอยสุเทพและพระธาตุหริภุญชัย โดยมีบันไดนาคเชื่อมระหว่างเจดีย์บนม่อนดอยกับวัดพระพุทธบาทตากผ้าที่เชิงดอย และเมื่อถึงวันแรม ๘ ค่ำ เหนือ เดือน ๘ ของทุก ๆ ปี จะมีงานประเพณีทรงน้ำพระเป็นประจำ

 

 


วัดพระธาตุลำปางหลวง

วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ที่ ๕๔๑ บ้านลำปางหลวง หมู่ที่ ๒ ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ห่างจากที่ว่าการอำเภอเกาะคาไปทางทิศเหนือ ประมาณ ๓ กิโลเมตร ถือเป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่และมีความสำคัญของเมืองลำปาง มีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง คือ ต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ซึ่งมีอยู่หลายต้นและรอบ ๆ ต้นโพธิ์เหล่านั้นจะมีไม้ค้ำสรี (หมายถึงไม้ค้ำค้นโพธิ์) จำนวนมาก ชาวล้านนาเชื่อว่าการนำไม้มาค้ำต้นโพธิ์เช่นนี้จะเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต ไม้ค้ำสรีจึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามนักท่องเที่ยวที่มาเยือน ในบริเวณใกล้กับต้นโพธิ์ เป็นที่ตั้งรูปปั้นพระครูมหาเจตยาภิบาล ถา ถาวโร ยังมีต้นไม้อายุกว่า ๒๐๐ ปี ซึ่งอยู่ห่างออกไป เช่น ต้นมะขามและไม้จันทน์ ตลอดจนกุฏิพระแก้วและพิพิธภัณฑ์ ธรรมศาสตร์ลานนาอนุสรณ์ซึ่งเก็บโบราณวัตถุจำนวนมาก
อาคารเสนาสนะของวัดประกอบด้วย
- อุโบสถแบบล้านนา สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๐๑๙ โดย เจ้าผู้ครองนครลำปางในสมัยนั้นเป็นผู้สร้าง
- หอสรงน้ำพระโบราณขนาดเล็กซึ่งสร้างด้วยไม้
- ศาลาการเปรียญ
- กุฏิขนฺติโก สร้างเมื่อ ๒๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๑
- กุฏิหลังใต้ที่พระสังฆราชมโน เป็นผู้สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๐๖๗
- พิพิธภัณฑ์ด้านหลังองค์พระเจดีย์และหลังซุ้มพระพุทธบาท เป็นที่เก็บโบราณวัตถุ
- วิหารต้นแก้ว ประดิษฐานพระพุทธรูป ปางไสยาสน์ พระพุทธรูปประจำตระกูลเจ้านายฝ่ายเหนือ ทั้งตระกูล ณ ลำพูน ณ เชียงใหม่ และ ณ ลำปาง ตลอดจนเชื้อเจ้าเจ็ดตน
สิ่งสำคัญของวัด คือ
- วิหารน้ำแต้ม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย
- ซุ้มประตูโขงและบันไดนาคด้านหน้า
- หอพระพุทธบาท
- หออุโบสถ
- วิหารพระศิลา หรือวิหารละโว้
- วิหารพระพุทธ เป็นที่ประดิษฐานพระประธานแบบเชียงแสนองค์ใหญ่น้อย ประดิษฐานอยู่เต็มอาคาร พระพุทธรูปที่สำคัญ คือพระพุทธรูปปางมารวิชัย
- วิหารหลวง เป็นวิหารประธานของวัด ภายในวิหารบรรจุมณฑปพระเจ้าล้านทอง
- องค์พระธาตุเจดีย์ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีการจัดงานแสงเสียง ณ ลานพระเจดีย์แห่งนี้ โดยมีการเลี้ยงขันโตก จุดบอกไฟ และตีกลองฟ้อนรำต่าง ๆ เรียกว่า งานหลวงเวียงละกอน
- หอไตร แบบพื้นเมืองล้านนา
งานประเพณีประจำปีของวัด จะมีขึ้นในวันเพ็ญ เดือน ๑๒ หรือในเดือนยี่เป็ง ตรงกับวันลอยกระทง เป็นงานประเพณีนมัสการพระบรมธาตุ และในช่วงเทศการณ์สงกรานต์ เป็นงานประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุและพระแก้วมรกต
เรียบเรียงจากอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระราชสุธรรมาภรณ์(หล้า อินทรวิชยมหาเถร) พ.ศ.๒๕๓๔, ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๓๒, อนุสารอ.ส.ท. ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๕