ฮีตฮอย

 

ประเพณีสงกรานต์


เทศกาลสงกรานต์นี้ชาวล้านนาเรียกว่า ปเวณีปีใหม่หรือปาเวณีปีใหม่ (อ่าน"ป๋าเวนีปี๋ใหม่") ในช่วงเทศกาลนี้ซึ่งกินเวลา ๕ วัน ประชาชนจะหยุดงานทั้งสิ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระนี้ทั้งในแง่ศาสนาและพิธีกรรมโดยตลอด เทศกาลสงกรานต์ตามปฏิทินโหราศาสตร์ของชาวล้านนานั้น จะถือเอาวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษเป็น วันสังกรานต์ล่อง หรือวันมหาสงกรานต์ ซึ่งจะไม่ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน ตามประกาศของทางการเสมอไป (แต่ปัจจุบันนี้จะยึดตามประกาศของทางการ) เทศกาลนี้จะมีวันต่าง ๆ และมีพิธีกรรมและการละเล่นหลายอย่างที่ เกี่ยวข้องกัน ดังนี้
วันสังกรานต์ล่อง คือวันมหาสงกรานต์ ซึ่งออกเสียงแบบล้านนาว่า "สัง-ขาน" นี้คือวันที่พระอาทิตย์โคจรไปสุดราศีมีนจะย่างเข้าสู่ราศีเมษ ตามความเชื่อแบบล้านนากล่าวกันว่าในตอนเช้ามืดของวันนี้ "ปู่สังกรานต์" หรือ "ย่าสังกรานต์"จะนุ่งห่มเสื้อผ้าสีแดงสยายผมล่องแพไปตามลำน้ำ ปู่หรือย่าสังกรานต์นี้จะนำเอาสิ่งซึ่งไม่พึงปรารถนาตามตัวมาด้วย จึงต้องมีการยิงปืนจุดประทัดหรือทำให้เกิดเสียงดังต่าง ๆ นัยว่าเป็น "การไล่สังกรานต์" และถือกันว่าปืนที่ใช้ยิงขับปู่หรือย่าสังกรานต์นั้นจะมีความขลังมาก ตั้งแต่เช้าตรู่ของวันนี้จะมีการปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด มีการซักเสื้อผ้า เก็บกวาดและเผาขยะมูลฝอยต่าง ๆ มีการดำหัวหรือสระผมเป็นกรณีพิเศษ คือเมื่อสระผมแล้วก็จะต้องเงยหน้าไปตามทิศที่กำหนดไว้และทัดดอกไม้ที่เป็นนามของปีของแต่ละปี นุ่งห่มเป็นเสื้อผ้าใหม่ ฝ่ายพ่อบ้านก็จะนำเอาพระพุทธรูปพระเครื่องหรือเครื่องรางของขลังต่างๆ มาชำระหรือสรงด้วยน้ำอบน้ำหอมหรือ เปลี่ยนดอกไม้บูชาพระในแจกันใหม่ด้วย
ในวันสังกรานต์ล่องนี้ ตามประเพณีโบราณแล้ว กษัตริย์แห่งล้านนาจะต้องทำพิธีสรงน้ำตามทิศที่ โหรหลวงคำณวนไว้ และจะลงไปทำพิธีลอยเคราะห์ในแม่น้ำเช่น ในแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง เป็นต้น ในวันนี้บางท่านก็จะเรียกลูกหลานมาพร้อมกล่าวคำมงคลแล้วใช้น้ำส้มป่อยลูบศีรษะตัวเองหรือลูกหลานทุกคน และบางท่านจะให้ ลูกหลานเอาฟักเขียวหรือฟักทองไปปลูกและใช้มูลควายตากแห้งเป็นปุ๋ยโดยบอกเด็กว่าปู่ย่าสังกรานต์พึงใจที่ได้เห็น ลูกหลานปลูกฟัก บ้างว่า ผู้ที่ปลูกฟักนั้นก็จะมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดด้วย สำหรับในเมืองใหญ่เช่นเชียงใหม่ นิยมจัดขบวนแห่พระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองเช่นพระพุทธสิหิงค์และพระเสตังคมณี ไปตามถนนสายต่าง ๆ แล้วนำไปประดิษฐานไว้เพื่อให้ประชาชนได้เข้านมัสการสรงน้ำพระพุทธรูปดังกล่าวด้วย
วันเนา วันเนาว์ หรือ วันเน่า ในแง่ของโหราศาสตร์แล้ว วันนี้ควรจะเรียกว่า วันเนา เพราะเป็นวันที่พระอาทิตย์โคจรอยู่ระหว่างราศีมีนและราศีเมษ อันเป็นวันที่ถัดจากวันสังกรานต์ล่อง แต่ในการออกเสียงแล้วทั่วไปมักเรียก"วันเน่า" ทำให้เกิดความคิดที่ห้ามการกระทำสิ่งที่ไม่เป็นมงคล โดยเฉพาะห้ามการด่าทอทะเลาะวิวาทกัน กล่าวกันว่าผู้ใดที่ด่าทอผู้อื่นในวันนี้แล้ว ปากของผู้นั้นจะเน่า และหากวิวาทกันในวันนี้ บุคคลผู้นั้นจะอัปมงคลไปตลอดปี ส่วนผู้ประสงค์จะปลูกเรือนด้วยไม้ไผ่ ก็ให้รีบตัดในวันนี้ เพราะเชื่อกันว่าไม้จะ"เน่า"และไม่มีมอดหรือปลวกมากินไม้ดังกล่าว วันเนานี้จะเป็นวันเตรียมงาน ชาวบ้านจะพากันไปซื้อของเพื่อกินและใช้ในวันพญาวัน เมื่อถึงตอนบ่ายจะมีการขนทรายเข้าวัด กองรวมกันทำเป็น การขนทรายเข้าวัดนี้ถือว่าเป็นการนำทรายมาทดแทนส่วนที่ติดเท้าของตนออกจากวัดซึ่งเสมอกับได้ลักของจากวัด วันเนานี้อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วันดา เพราะเป็นวันที่ ดา หรือจัดเตรียม สิ่งของต่างๆ จะใช้ทำบุญนั่นเอง
วันพญาวัน เป็นวันเถลิงศกเริ่มต้นจุลศักราชใหม่ วันนี้เป็นวันที่มีการทำบุญทางศาสนาดัง ตั้งแต่เวลา เช้าตรู่ผู้คนจะนำเอาสำรับอาหารหวานคาวต่าง ๆ ไปทำบุญถวายพระตามวัด ทานขันเข้า (อ่าน"ตานขันเข้า") เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษหรือญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วด้วย บางคนอาจนำสำรับอาหารไปมอบให้แก่บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ผู้เฒ่าผู้แก่หรือผู้ที่ตนเคารพนับถือ เรียกว่า ทานขันเข้าฅนเถ้าฅนแก่
จากนั้นจะนำทุงหรือธงซึ่งได้เตรียมไว้ไปปักบนเจดีย์ทราย ทั้งนี้ มีคติว่าการทานทุง นั้นมีอานิสงส์ สามารถช่วยให้ผู้ตายที่มีบาปหนักถึงตกนรกนั้นสามารถพ้นจากขุมนรกได้ จากนั้นก็มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
ในวันพญาวันนี้ บางท่านอาจจะเตรียมไม้ง่ามไปถวายสำหรับค้ำต้นโพ ถือคติว่าเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการจะช่วยกันค้ำจุนพระศาสนาให้ยืนยาวต่อไป และจะมีการสรงน้ำทั้งพระพุทธรูป สถูปเจดีย์รวมทั้งสรงน้ำพระภิกษุสงฆ์ด้วย ในตอนบ่ายจะมีการไป ดำหัวหรือไปคารวะผู้เฒ่าผู้แก่บิดามารดา ญาติพี่น้องผู้อาวุโสหรือผู้มีบุญคุณหรือผู้ที่เคารพนับถือ เพื่อเป็นการขอขมาและผู้ใหญ่ก็จะให้พร
วันปากปี ในวันนี้ ศรัทธาที่ไม่ไปที่วัดก็ จะไปเตรียมสถานที่ เพื่อทำบุญใจบ้าน คือบริเวณที่ตั้งของ เสาใจบ้านหรือสะดือบ้านบ้างเรียก แปลงบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน บริเวณหอเสื้อบ้าน (อารักษ์หมู่บ้าน) ที่วัดตอนเช้าจะมีการทำพิธีปูชาเข้าลดเคราะห์ ปูชาเข้ายกเคราะห์ ปูชาเคราะห์ปีใหม่ ปูชาสระพระเคราะห์ เป็นต้น เชื่อว่าผู้ที่บูชาดังว่าในวันปากปี จะได้รับความคุ้มครองไปตลอดปี และชาวบ้านบางคนจะพากันไปดำหัววัด คือไปทำพิธีคารวะเจ้าอาวาสวัดที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ด้วย
วันในลำดับที่ ๕ ของเทศกาลนี้คือ วันปากเดือน ซึ่งถือเป็นวันเริ่มต้นของเดือนใหม่ ในวันนี้นิยมมีการส่งเคราะห์ต่าง ๆ ตามแบบที่นิยมนับถือกันมาแต่โบราณ การส่งเคราะห์ที่ว่านี้มีหลายอย่าง เช่น ส่งชน, ส่งแถน, ส่งเคราะห์นรา เป็นต้น ส่วนการดำหัวนั้นก็จะดำเนินต่อไปจนครบตามต้องการ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้มีการละเล่นที่สนุกสนานหลายอย่าง เช่น เล่นหมากบ้าหรือการเล่นสะบ้า เล่นหมากคอนหรือการเล่นโยนลูกช่วง เป็นต้น แต่การเล่นที่สนุกที่สุกและมีเพียงช่วงเดียวในรอบปี คือ เล่นหดน้ำ ปีใหม่ หรือการเล่นรดน้ำในเทศกาลขึ้นปีใหม่นั่นเอง

ประเพณีทานสลาก

ประเพณีการทานสลาก บ้างก็เรียกว่า กินข้าวสลาก หรือ"ตานก๋วยสลาก" ซึ่งก็คืองานประเพณีทำบุญสลากภัตต์ นิยมทำกันในช่วงราวปลายเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม จะทำกันถี่มากในเดือนกันยายน เพราะถือว่าเดือนนี้เป็นเดือนที่อดอยากของชาวบ้าน ข้าวเปลือกที่เก็บไว้ในยุ้งฉางใกล้จะหมด หรือหมดไปแล้ว คนที่มีข้าวเปลือกก็จะเก็บไว้กินจนกว่าจะเก็บเกี่ยวข้าวใหม่ในปีต่อไป (ในราวเดือนมกราคม) ส่วนคนที่ซื้อกินข้าวสารก็จะหาซื้อยากและมี ราคาแพง เมื่อคนทั่วไปอดอยากก็พากันคิดถึงผู้ที่เป็นญาติพี่น้อง ที่ตายไปแล้วว่าคงจะไม่มีเครื่องอุปโภคบริโภคเช่นกันจึงรวมกันจัดพิธีทำบุญทานสลากภัตต์ จัดข้าวปลาอาหารของกินของใช้ไปถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนบุญให้แก่ญาติที่ล่วงลับไป โดยการทำบุญทานสลากภัตต์ จะไม่จำเพาะเจาะจงถวายแก่สงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง จึงทำสลากเขียนคำอุทิศลงในสลากแล้วนำไปรวมปะปนกันให้พระภิกษุสามเณรจับสลากหากภิกษุหรือสามเณรรูปใดจับสลากได้ "กํวยสลาก"หรือภาชนะที่บรรจุเครื่องไทยทานอันไหน ก็ยกถวายแก่รูปนั้น วันงานทานข้าวสลากนี้ ชาวบ้านจะนัดหมายตกว่าวันทำพิธี โดยให้มีงาน ๒ วัน คือวันแต่งดาหรือวันสุกดิบวันหนึ่งและวันถวายทานอีกวันหนึ่ง ในวันแต่งดาทุกหลังคาเรือนจะจัดหาวัตถุของกินของใช้ตามกำลังศรัทธา มาไว้ญาติพี่น้องที่อยู่ต่างบ้านไม่ว่าใกล้หรือไกลเมื่อรู้ข่าวก็จะพากันมาช่วยและร่วมบริจาคจตุปัจจัยสมทบในการบำเพ็ญทานตามสายญาติของตน

ประเพณีเดือนยี่เพง-ยี่เป็ง

คือ ประเพณีในเทศกาลวันเพ็ญ เดือน ๑๒ ซึ่งแต่เดิมนั้นพิธีสำคัญของเทศกาลนี้อยู่ที่พิธีกรรมตั้งธรรมหลวงหรือฟังเทศน์มหาชาติ ชาวบ้านจะมีการประดับประดาวัดวาอารามบ้านเรือน ด้วยประทีปโคมไฟ โคมระย้า ทำอุบะดอกไม้ไปถวายวัด ทำซุ้มประตูป่าด้วยต้นกล้วย อ้อยก้านมะพร้าว เตรียมข้าวปลาอาหารเป็นพิเศษ เช่น ห่อนึ่ง แกงอ่อม แกงฮังเล ลาบ และขนมต่าง ๆ ไปทำบุญ บางแห่งมีพิธีกวนข้าวมธุปายาสหรือบ้างเรียก ข้าวพระเจ้าหลวง ถวายเป็นพุทธบูชาในตอนเช้ามืดของวันเพ็ญเดือน ๑๒ นี้ด้วย จากนั้นก็จะมีการทานขันข้าวหรือสำรับอาหารไปถึงบรรพชนคนตาย ถวายอาหารและกัณฑ์เทศน์แด่พระภิกษุสงฆ์ และมีการฟังธรรมมหาชาติตั้งแต่เช้าถึงกลางคืน บางแห่งก็จะมีการสืบชะตาด้วย จะมีการปล่อยโคมลอย เรียกว่า "ว่าวฮม" หรือ "ว่าวควัน" ในช่วงพลบค่ำจะมีการเทศน์ธรรมชื่อ "อานิสงส์ผางประทีส" และชาวบ้านจะมีการจุดประทีสหรือประทีป โคมหูกระต่าย โคมแขวน เป็นพุทธบูชากันทุกครัวเรือนสว่างไสว หนุ่มสาวก็จะมีการเล่นบอกไฟ แข่งขันบอกไฟ และปล่อยว่าวไฟ กันอย่างสนุกสนาน

ประเพณีปอยหลวง

ปอยหลวงเป็นประเพณีเฉลิมฉลองเสนาสนะที่สร้างขึ้นในวัด เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ กำแพงวัดหรือ กุฏิ เป็นต้น (ทั้งนี้ มีกำหนดขึ้นมาภายหลังด้วยว่า การจะมีปอยหลวงได้นั้น ของที่จะถวายควรจะมีราคาตั้งแต่หนึ่งแสนบาทขึ้นไป ถ้าราคาต่ำกว่านั้นก็อนุญาตให้เพียงทำบุญถวายเท่านั้น) เพื่อถวายทานให้เป็นสมบัติในพระศาสนาต่อไป
การที่เรียกว่า ปอยหลวง เพราะเป็นงานใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลเป็นจำนวนมาก มีกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งทางศาสนาและด้านมหรสพเพื่อความบันเทิง ทั้งยังต้องจัดการอำนวยความสะดวกด้านบริการแก่แขกต่างหมู่บ้านซึ่งจะมีทั้งสมณะและฆราวาสทุกเพศทุกวัย ทางวัดและศรัทธาเจ้าภาพต้องดูแลให้ทั่วถึง
ในการเตรียมงานอันดับแรกต้องมีการประชุมปรึกษาหารือระหว่างทางวัดและคณะกรรมการหมู่บ้านฝ่ายต่าง ๆ เพื่อแบ่งสรรหน้าที่กัน นับตั้งแต่เรื่องการพิมพ์ฎีกาแผ่กุศล งานส่วนใหญ่จะจัดเป็นหมวดหรือกลุ่มเพื่อให้ดำเนินการได้โดยสะดวก เช่น กลุ่มพ่อบ้านมีหน้าที่ทางด้านจัดสถานที่ ติดต่อประสานงานกับชุมชนอื่น กลุ่มแม่บ้านมีหน้าที่ด้านอาหารการกินที่จะใช้เลี้ยงพระสงฆ์ตลอดจนแขกเหรื่อที่จะมาร่วมงานในแต่ละวัน กลุ่มหนุ่มสาวอาจมีหน้าที่บริการยกข้าวน้ำมาเลี้ยงแขก และอาจรวมถึงการติดต่อมหรสพที่จะมาเล่นในงานครั้งนั้น ฝ่ายกลุ่มผู้เฒ่าชายส่วนใหญ่ก็จะได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ด้านศาสนพิธีและการต้อนรับแขกเหรื่อที่จะมาทำบุญร่วมกัน และกลุ่มผู้เฒ่าหญิงก็มีหน้าที่แต่งดาเครื่องไทยทาน ของใช้ที่จะใช้ในพิธีทางศาสนา สำหรับหญิงสาวจะได้รับการฝึกหัดให้เป็นช่างฟ้อนเพื่อฟ้อนรับครัวทานหรือไทยทานที่จะแห่เข้าสู่วัดในวันงาน
เมื่อแบ่งหน้าที่กันแล้วต่างฝ่ายก็จะไปจัดเตรียมวางแผนดำเนินงานในฝ่ายของตนตามที่ได้รับมอบหมาย แต่ละฝ่ายจะมีการประสานงานกันตลอดเวลา ส่วนแต่ละครอบครัวก็จะเตรียมตัวก็เตรียมเครื่องปัจจัยไทยทาน แต่งดา ต้นครัวทาน ซึ่งอาจทำเป็นการภายในครอบครัวหรือจัดทำร่วมกันเป็นกลุ่มก็ได้ เตรียมการต้อนรับญาติพี่น้องต่างบ้าน ซึ่งมักจะมานอนแรมเพื่อแอ่วปอยหลวงโดยเฉพาะ ทางด้านอาหารการกินบางบ้านถึงกับต้องซื้อหมูหรือวัวเป็นตัวเพื่อล้มมา"เลี้ยงดู"แขกญาติพี่น้อง ตลอดจนจัดหาที่นอนหมอนมุ้งเตรียมไว้ตามจำนวนคนที่คาดว่าจะมาเที่ยวงาน สิ่งสำคัญที่ทุกครอบครัวจะไม่ลืมคือ การจัดหาเสื้อใหม่ผ้าใหม่สำหรับทุกคนในครอบครัวที่จะใส่ไปเที่ยวงาน โดยเฉพาะเด็กและหนุ่มสาวจะคึกคักเป็นพิเศษ ดังนั้นตลาดในช่วงก่อนวันงานจะคึกคักไปด้วยผู้คนจับจ่ายสิ่งของตามความประสงค์ของตน
ก่อนที่จะมีงานพอยหลวงนั้น จะมีการทานตุง และช่อ (ธงสามเหลี่ยม) เสียก่อนตุงนี้จะเป็นผืนผ้าที่ ถักทอด้วยด้ายซึ่งอาจมีการประดับด้วยดิ้นสีเงิน สีทอง หรือสีอื่นๆ ที่สวยงาม บางผืนอาจทอเป็นรูป ปีนักษัตรที่ตนเกิด ความยาวของตุงประมาณ ๓-๔ วา และมีความกว้างประมาณ ๑ ใน ๑๖ ของความยาว ทุงนี้จะนำตุงไปปักเรียงรายกันไว้ตามถนนหนทางเข้าหมู่บ้าน ส่วนช่อหรือธงสามเหลี่ยมซึ่งหากใช้เป็นการชั่วคราวก็จะตัดด้วยกระดาษ มีความยาวขนาดประมาณ ๑ ศอก กว้างประมาณ ๑ คืบ ก็ถวายทานพร้อมกับการตุง การถวายทานจะทำกันในพระวิหาร พร้อมกับการตักบาตรทำบุญโดยปกติในวันสีล หรือวันธรรมสวนะ ก่อนที่จะถึงวันงานปอยหลวง ดังนั้นที่เรียงรายสลับกันอย่างสวยงามสองข้างทางจะเป็นสัญลักษณ์ให้คนที่สัญจรผ่านไปมาได้ทราบว่าวัดแห่งนั้นกำลังจะมี ปอยหลวง นอกจากจะมีการทานตุงผ้าแล้ว ทางวัดอาจจะจัดทำธงชาติและธงธรรมจักรอันเป็นสัญลักษณ์ของชาติและพระ พุทธศานา ปักตลอดแนวตามบริเวณหน้าวัด หรือทางเข้าวัดทุกด้าน
สิ่งพิเศษที่จะต้องจัดเตรียมก่อนที่จะมีงานปอยหลวงตามความเชื่อในโบราณประเพณี เมื่อจะมีงานพิธีต้องมีศักดิ์สิทธิ์ปกป้องคุ้มครองให้งานดำเนินไปโดยราบรื่นไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคใด ๆ ให้เดือดร้อน จึงมีการอัญเชิญพระอุปคุตมาคุ้มครองงาน พระอุปคุตนี้ได้ชื่อว่าเป็นอรหันต์ที่อาศัยอยู่ในสะดือทะเลเป็นผู้ที่สามารถปราบพระยามารที่อาจมาทำลายพิธีทำบุญนี้ได้
ในการอัญเชิญอุปคุตนนั้น ชาวบ้านนำขบวนแห่ไปอัญเชิญพระอุปคุตไปที่แม่น้ำแล้ว ให้ตัวแทนลงไปงมก้อนหินขึ้นมาแล้วถามคนที่รอบนฝั่งว่า"ใช่หรือไม่" เมื่อคนบนฝั่งบอกว่าไม่ใช่ก็งมหาต่อไปอีกสองสามครั้ง จนคนบนฝั่งบอกว่าใช่แล้ว ก็เชิญก้อนหินที่สมมุติว่าเป็นอุปคุตไปใส่พานที่เตรียมมาด้วย จากนั้นก็พากันแห่เพื่อนำไปไว้บนหออุปคุตที่สร้างคล้ายศาลเพียงตา หลังคามุงด้วยผ้าขาวซึ่งจะตั้งไว้ที่ข้างวิหาร บาตร กรวยดอกไม้ ธูป เทียน คนโทน้ำและสำรับอาหาร ๑ สำรับ และประตูรั้วปักสัปทนแทนร่มกันแดดกันฝน และจะต้องถวายสำรับอาหารทั้งมื้อเช้า และเพล เมื่อเสร็จงานปอยหลวงแล้วก็จะมีพิธีอัญเชิญอุปคุตกลับไปสู่แม่น้ำที่นำมานั้น
สิ่งสำคัญที่อาจถือเป็นหัวใจของปอยหลวงคือต้นครัวทาน ซึ่งชาวบ้านที่จัดงานและชาวบ้านจากต่างหมู่บ้านจะนำมาถวายทานกันแทบทุกครอบครัว บรรยากาศที่สนุกสนานครึกครื้นที่สุดของงานคือช่วงที่มีการแห่ต้นครัวทานไปถวายวัด ในช่วงบ่ายหรือเย็นจะมีการตีกลองฆ้อง และฟ้อนที่นิยมคือฟ้อนเล็บส่วนฟ้อนอย่างอื่น เช่น ฟ้อนเงี้ยว ฟ้อนดาบ ช่างฟ้อนจะฟ้อนในบริเวณที่มีคนมุงดูครัวทานอย่างหนาแน่น อย่างบริเวณประตูวัดก่อนที่เคลื่อนจะเข้าไปในวัดหรือลานวัด ระหว่างที่แห่ต้นครัวทาน ศรัทธาเจ้าภาพอาจหงบ่านาว คือโปรยทาน(ใช้เงินเหรียญฝังไว้ในลูกมะนาว) ไปด้วยต้นครัวทานนี้อาจทำได้หลายรูปแบบตามแต่ความคิดสร้างสรรค์แต่ละคนจะคิดขึ้นมา ถ้าต้นครัวทานของใครสวยงามก็จะเป็นที่ชื่นชมของบรรดาแขกเหรื่อตลอดจนบุคคลที่จะมายืนชมกันอย่างคับคั่ง ต้นครัวทานคือจะต้องมียอด หรือเงินธนบัตรจำนวนต่าง ๆ ที่ใช้ไม้ตับหนีบไว้และเสียบที่ต้นเป็นช่อชั้นอย่างสวยงามนั้น
บรรยากาศในงานปอยหลวงนั้นจะคึกคักเต็มไปด้วยผู้คน ทั้งคนแก่ หนุ่มสาว เด็กเล็ก พ่อค้าแม่ค้า ศรัทธาญาติโยม ตลอดจนพระสงฆ์องคเจ้าที่มาร่วมงานตามคำเชิญของวัดเจ้าภาพ พระภิกษุที่ได้รับอารธนานิมนต์มาเป็นพิเศษเพื่อเป็นเจ้านั้น จะเป็นผู้ที่มีน้ำเสียงในการให้พรไพเราะมีโวหารที่สละสลวยเพราะจะต้องให้พรแก่ศรัทธาที่นำต้นครัวทานมาถวายทาน เจ้าพรอาจจะพรรณนาถึงความงดงามของต้นครัวทานนั้น ๆ เพื่อให้ผู้ที่นำครัวทานมาถวายทานเกิดความปลาบปลื้มใจ ผู้ที่เสร็จภารกิจทางด้านศาสนาแล้วก็จะไปนั่งชมมหรสพต่าง ๆ
ในเวลาประมาณ ๓-๕ วันที่จัดงานพอยหลวงนั้น ทางวัดเจ้าภาพจะจัดอาหารเลี้ยงคนที่มาร่วมงานทั้งมื้อกลางวันและมื้อเย็น ชนิดกับข้าวที่นิยมทำเลี้ยงกัน เช่น ยำหนัง แกงหยวกกล้วยเป็นต้น ขนมที่นำมาเลี้ยง ขนมศิลาอ่อน ขนมปาด ขนมเปียกปูนโรยมะพร้าว
สำหรับสถานที่เลี้ยงอาหารนั้นเป็นปะรำที่ต่อขึ้นง่าย ๆ หลังคาทำเป็นถึมหรือแผงไม้ไผ่สานประกบใบตองทึง หรือกระดาษ ปะรำนี้ปกติใช้เป็นกองอำนวยการหรือศูนย์ประชาสัมพันธ์ซึ่งตั้งเครื่องกระจายเสียงและเป็นที่รับบริจาคกรณีพิเศษอื่น ๆ ด้วยบนพื้นซึ่งใช้ตั้งขันโตกอาหารจะปูด้วยฟางก่อนที่อาหารจะปูเสื่อทับอีกทีหนึ่ง แขกเหรื่อที่มาในงานจะนั่งตกวง คือล้อมวงกินอาหารแล้วดื่มน้ำที่น้ำต้นหรือคนโทที่ตั้งไว้เป็นจุด ๆ หรืออาจดื่มที่หิ้งน้ำที่จัดตั้งไว้ตามบริเวณงานก็ได้
เมื่องานเฉลิมฉลองเสร็จสิ้นลงตามที่กำหนดไว้แล้ว วันสุดท้ายหลังวันฉลองก็จะมีพิธีถวายทานศาสนวัตถุหรือศาสนสถานที่ร่วมมือกันและมีเจตนาจะถวายทาน โดยในช่วงเช้าจะมีการทำบุญใส่บาตรแล้วปู่อาจารย์ก็กล่าวเวนทาน พระสงฆ์อนุโมทนาแล้วก็เป็นเสร็จพิธี